ปรัชญาผิวพรรณของสาวสามสิบ

ฉันชอบใช้ครีมกันแดดบิโอเร เรื่องราวของฉันกับครีมยี่ห้อนี้เริ่มต้นตอนที่อายุราวๆ ต้น 20 พีอาร์มือใหม่คนหนึ่งโทรมาหาฉัน แล้วพยายามส่งโลชั่นกันแดดของบิโอเรมาให้ ฉันเรียกเธอว่าพีอาร์มือใหม่เพราะฉันไม่ได้เป็นคนดังอะไร เพิ่งเริ่มทำงานในบริษัทเล็กมาก แต่เธอก็พูดจาน่ารัก และปฏิบัติต่อฉันหลายๆ หนอย่างดีมากๆ ทุกวันนี้ฉันคิดว่า เธออาจกลายร่างเป็นพีอาร์มืออาชีพไปแล้วล่ะ ถ้าเธอยังทำงานและปฏิบัติต่อผู้คนอย่างไม่เลือกหน้าเหมือนเช่นวันนั้น

กลับมาที่เรื่องครีมกันแดดบิโอเรต่อ ต่อนั้นตลาดเมืองไทยเพิ่งนำเข้ากันแดดแบบโลชั่นของบิโอเรมา มีแค่โลชั่นเท่านั้น ยังไม่มีแบบครีม มูส หรือวอเตอร์เบสอะไรทั้งนั้น โลชั่นของบิโอเรกันได้ดี แต่มันมักทิ้งคราบสีขาวไว้ ต้องใส่ใจตอนทามากๆ ถึงจะออกมาหน้าไม่ขาววอก แต่มันซึมลงหนังหน้าได้ดีมากทีเดียว และราคาของมันก็น่าคบหา

จนต่อมาบิโอเรออกครีมกันแดดแบบมูสมา ฉันชอบมาก มันคือมูสแบบที่โมเมพาเพลินแนะนำนั่นแหละ แต่ฉันใช้มาตั้งแต่มันออกใหม่ ไม่ได้ใช้ตามคำบอกของโมเมหรอกนะ ทว่ามูสนี้ เวลาทาลงบนหน้าฉัน ถ้าไม่ใช้ไออุ่นบนฝ่ามือถูดีๆ ก่อนจะลงโปะหน้า ก็มีสิทธิเกิดคราบสูง คือทาทีไรต้องมีสติ และบางทีถ้ามีคราบ ก็ต้องใช้สำลีชุบน้ำมาคอยซับคราบหรือขุยครีมออก ถ้ารีบมากๆ ก็ไม่ควรใช้ครีมนี้สักเท่าไหร่ ในความคิดฉัน

แต่แล้วเหมือนบิโอเรรู้ใจ เขาออกครีมแบบที่เป็นสูตรวอเตอร์เบส หรือใช้น้ำเป็นเบส ทำให้มันซึมเข้าหน้าได้เร็ว ไม่ทิ้งคราบขุยไว้ (กรณีผิวหน้าฉัน) ที่สำคัญ ทาทับเครื่องสำอางก็ไม่เป็นไร เรียกได้ว่า ทาไปตอนเช้า แต่งหน้าให้แน่น แล้วจะกลับมาโปะครีมกันแดดทับแป้งอีกก็ยังได้ ไม่มีปัญหา

ฉันปักหลักใช้บิโอเรวอเตอร์เบสนี้มาอย่างยาวนาน แม้จะมีหลายคนบอกว่าชิเชโด้ดี ตัวนั้นตัวนี้ดี แต่ฉันก็ไม่ได้เปลี่ยนไปใช้อย่างอื่นเลย เพราะคิดว่าเจอสิ่งที่ใช่แล้ว แต่แล้ว พอมาอยู่โตเกียว ฉันเริ่มอยากลองกันแดดแบบใหม่ๆ ยี่ห้ออื่นดูบ้าง เห็น Kose ออกวางขาย ราคาใกล้เคียงกัน เป็นวอเตอร์เบสเหมือนกัน ฉันคิดว่าลองดูดีกว่า ในช่วงเวลาเดียวกัน ฉันลองซื้อแป้งฝุ่นยี่ห้อญี่ปุ่นมาใช้ด้วย เป็นแป้งแบบที่เราต้องใช้แปรงเวลาจะทาน่ะ ปกติฉันใช้แป้งผสมรองพื้นอัดแผ่นของยี่ห้อ Sungrace (เจ้าเดียวกับ Covermark) ฉันเคยใช้แป้งยี่ห้ออื่นแล้วไม่ชอบ ไม่เหมาะกับผิวมีปัญหาของฉัน จนมาเจอ Sungrace นี่แหละ ในราคา 500 กว่าบาทถึงได้คบหากันได้ มันสมบูรณ์แบบมากสำหรับฉัน

ฉันลองใช้ Kose กันแดดด้วยความตื่นเต้น มันคือของใหม่นี่นา หัวใจเรามักจะเต้นแรงกับสิ่งใหม่เสมอ แต่แล้ว เพียงหนแรกที่ทา ฉันพบว่า มันซึมสู่ผิวเร็วมาก แต่มันทิ้งความมันไว้เต็มหน้าเลย ปกติแล้ว เวลาทากันแดดของบิโอเรตัวที่เป็นวอเตอร์เบส หน้าจะไม่มัน (หน้าฉันนะ) พอใช้ Kose แล้วหน้ามันเยิ้ม ฉันก็ต้องซับมันก่อนเอาแป้งลงทับ เรียกได้ว่า เสียเวลา และยังต้องเสียฟิล์มซับมันเพิ่ม แต่เพราะฉันไม่อยากเสียเงินซื้อใหม่ เพิ่งซื้อมาใช้ได้หนเดียว ก็ทนใช้ให้หมดดีกว่า

ฉันใช้ Kose ใกล้หมดแล้ว ทีนี้กลับไทยไปนอนค้างบ้านเพื่อน เห็นเพื่อนมีครีมกันแดดหลายยี่ห้อเลย (ทั้งแบบแพงมากและถูกมาก) ฉันลองหยิบบิโอเรแบบวอเตอร์เบสแต่มีบีบี (ครีมบีบีกันแดด) ของเพื่อนมาใช้ดู ตอนอยู่กรุงเทพฯ ก็รู้สึกว่า “เออ ดีแหะ” พอกลับมาถึงโตเกียว เมื่อถึงเวลาต้องซื้อครีมกันแดดใหม่ จากเดิมที่ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะกลับไปใช้ขวดสีฟ้าวอเตอร์เบสบิโอเรเหมือนเดิม ก็เลยขอปันใจมาใช้แบบกันแดดบีบีของบิโอเรลองดู ผลคือ พอลองเอามาทา ปรากฏว่าเป็นขุย ไม่รู้เพราะว่าที่โตเกียวในฤดูใบไม้ผลิช่วงนี้ มันอากาศแห้งหรือผิวหน้าฉันไม่เหมาะกับมันหรือเยี่ยงไร

ฉันไม่ได้ประทับใจบีบีตัวนี้นัก แต่คิดว่าจะทนใช้ไปก่อนจนหมด แต่หนนี้ก็ได้บทเรียนจริงๆ แล้วว่า ครีมกันแดดที่มันเหมาะกับหน้าเรา ถ้าเจอแล้ว ก็อย่าเปลี่ยนไปใช้อันอื่นเลย

เรื่องแป้งก็เหมือนกัน หลังจากลองใช้แป้งฝุ่นของญี่ปุ่นตัวที่ซื้อมาแล้ว ฉันก็พบว่ามันไม่เหมาะกับวิถีชีวิตของฉัน คือฉันเป็นคนไม่ทาลองพื้น ทาแค่กันแดดแล้วก็เติมแป้งเลย ดังนั้น เมื่อไม่ทารองพื้น แป้งที่ดี ก็อาจจะไม่ดีต่อผิวหน้าฉันก็ได้ ฉันได้บทสรุปเรื่องแป้งว่า Sungrace แบบผสมรองพื้นแพ็คแข็ง ใช้พัพฟ์แตะๆ แล้วทา เป็นอะไรที่เหมาะกับหน้า และวิถีการแต่งหน้าของฉันที่สุดแล้ว

ในวัย 30 เมื่อผิวเราค้นพบสิ่งที่ใช่ มันก็คือสิ่งที่ใช่ ปันใจจากสิ่งที่ใช่ได้ แต่คุณอาจผิดหวัง

นี่คือปรัชญาว่าด้วยเรื่องผิวพรรณและเครื่องสำอาง…ที่ฉันได้ค้นพบจากการลองผิดลองถูกของตัวเอง

โตเกียวรสขม (1)

มันมหัศจรรย์อยู่นะ ตอนจากโตเกียวหนก่อน ผู้คนยังห่อคลุมกาย ความหนาวเย็นยังโหดร้าย เราต้องปิดบานหน้าต่างทุกบาน เหมือนทุกคนตัดขาดจากโลก อยู่ตัวคนเดียว

แค่เดือนครึ่ง เมื่อใบไม้ผลิมาเยือน ผู้คนเปิดบ้าน เปลือยเนื้อตัว (ห๊ะ) สวมเสื้อคลุมตัวที่บางขึ้น ดูเปิดเผยและเปิดใจมากขึ้น

เสียงหัวเราะตามฟุตบาทของคนที่เดินไปมา แสงแดดของฤดูที่มีคนเคยบอกว่า เป็นฤดูกาลของการก่อกำเนิด

โตเกียววันนี้ดูขมน้อยลง แม้แต่อเมริกาโน่ใส่นมแก้วตรงหน้า ก็ดูหวานกว่าเดิม

 

Image

 

Journey Japan : ทฤษฎีสีซากุระ

เดินบนทางสายเก่า
ในช่วงเวลาที่ต่างไปจากเดิม
พบเจอผู้คนใหม่ๆ ที่ยังคงให้ความรู้สึกแปลกหน้า แต่หวังว่าสักวันจะคุ้นเคย
อุเอโนะหน้าหนาว กับวันที่ซากุระบาน เหมือนไม่ใช่สวนเดียวกัน แต่ก็ใช่

ในวันเริ่มใบไม้ผลิ คือวันที่คนจำนวนมากรวมตัว
แน่นอนว่าเราผูกมิตรไม่ได้ทั้งหมด เรารักไม่ได้ทุกคน และบางคน เดี๋ยวเราก็ลืม
ในวันที่อากาศดีอย่างนี้ มีทฤษฎีความสุขง่ายมาก

ทาลิปสติกสีชมพู สวมกระโปรงบาน เดินออกจากบ้าน เดินบนเส้นทางที่ไม่เคยไปครึ่งหนึ่ง เดินซ้ำรอยเส้นทางที่เดินมาแล้วร้อยครั้งอีกครึ่งหนึ่ง

ชีวิตคืองานแต่งของประสบการณ์ทั้งใหม่และเก่า…
ชีวิตคือส่วนผสมของวันที่ซากุระบาน วันที่มันร่วงโรย ไปจนถึง วันที่เราไม่รู้สึกว่ามันมีตัวตนอยู่บนโลกด้วยซ้ำ

2014-03-29

ImageJour

 

ว่าด้วยทุนการศึกษา…สำหรับคนทำงานแล้ว

ว่าด้วยทุนการศึกษา…สำหรับคนทำงานแล้ว

คิดไว้สักพักแล้วว่าอยากเล่าเรื่องทุนการศึกษาต่างประเทศที่เคยเสือกไปอ่านมาตาแฉะตอนแสวงหาทุน … ที่ต้องใช้คำว่า “แสวงหา” เพราะมันคือการ “แสวงหา” จริงๆ ค่ะ ทุนโดยมากมักจะให้คนที่เกรดเฉลี่ยสูง พวกเทพ พวกตัวท็อป พวกคิดวิเคราะห์เก่งมาก … ซึ่งอิชั้นเป็นพวกสโลว์ไลฟ์ สโลว์เบรน เป็นมนุษย์ไม่แคล่วคล่องว่องไว …สรุปง่ายๆ เกรด 3.24 ภาษาอังกฤษนี่อ่านเป็นวัน เช้ายันเย็นได้สามบท คนอื่นอ่านวันเดียวจบไปแล้วหนึ่งเล่ม ยี่สิบสี่บท (อยากจิกรีดร้อง) แต่เหมือนที่ เคท บลานเช็ต นางกล่าววาทะลือโลกในงานออสการ์หนล่าไว้ The world is round, people. โลกมันกว้าง ทางมันกลม (ยังไง) มันก็มีทุนมุ้งมิ้งสำหรับมนุษย์กลางๆ ไม่ใช่คนพิเศษโผล่มาเสมอ

เอาล่ะ ถ้าท่านเป็นคนเกรดกลางๆ มีประสบการณ์ทำงานเต็มเวลามาอย่างน้อย 3 ปีแล้ว อายุก็ไม่ใช่เล่นๆ (เอ๊ะ ยังไง) แต่อยากได้ทุนไปจีบชาวต่างชาติบ้าง (เฮ้ย) เราจะเล่าเท่าที่เราพอทราบแหล่ง

1)ทุนที่เราพอรู้คือทุน World Bank กับ ADB (ธนาคารพัฒนาเอเชียอะไรสักอย่าง จำชื่อไทยไม่ได้แล้ว ออฟฟิศสาขาเมืองไทยอยู่ตึกเซนทรัลเวิลด์ดิออฟฟิศ)

2)แต่เราจะเล่าแค่ทุน World Bank

3)ทุน World Bank มีราวๆ สามประเภท แต่สำหรับชาวไทย เราแนะนำทุน JJ/WBGS Program

4)ทุนนี้จะแบ่งมหาวิทยาลัยและสาขาที่ WB ให้ทุนออกเป็นสองอย่างกว้างๆ คือ สาขาที่ WB preferred กับสาขาใน ม. ที่ WB ร่วมเป็น partner programs

5)เมื่อสองปีก่อน เราเคยเข้าดูอายุที่เขากำหนดไว้ …เราเห็นเขียนว่า ไม่เกิน 45 ปี (มีประสบการณ์ทำงานเต็มเวลาอย่างน้อย 3 ปี) แต่ปีล่าสุด (วันนี้ที่เราเข้าดู) พยายามหาข้อกำหนดตรงนี้ แต่หาไม่เจอ เจอแค่ข้อกำหนดเรื่องประสบการณ์การทำงาน (ยัง 3 ปีเท่าเดิม) อาจจะพออนุมาณได้ว่า … เขาไม่กำหนดอายุแล้ว คือเกิน 45 อาจจะสมัครได้ด้วยซ้ำ (ฮูเร)

6)มาดูสาขาและ ม. ที่เขา preferred กันบ้าง
อย่าคิดว่ามีแต่สายวิทย์ๆ หรือเศรษฐศาสตร์ จ๋า ในสาขาที่ WB เขาโอเคจะให้ทุนนั้น มีตัวอย่างดังนี้ด้วยนะ

ที่ Columbia University ที่นิวยอร์ก มีสาขา ป.โท ด้าน education ด้วย
ที่ Cornell University มี Master of Professional Studies in International Development ด้วย
ที่ Harvard มี Graduate School of Design สาขา Master in Urban Planning ด้วย

นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยและสาขาต่างๆ อีกมากมาย ลองเข้าไปดูได้ที่เซ็คชั่น preferred programs ตามลิงก์ (http://web.worldbank.org/WBSITE/EXTERNAL/WBI/EXTWBISFP/EXTJJWBGSP/0,,contentMDK:20285874~menuPK:562888~pagePK:64168445~piPK:64168309~theSitePK:551644,00.html)

7)กระบวนการสมัครทั้งทุนและทั้ง ม. เขาว่ามีสองแบบคือ
7.1) ยืนใบสมัครในสาขาและ ม. ที่สนใจ จนกระทั่งเขาตอบรับแล้ว จึงยื่นขอทุนจาก World Bank
7.2) บางสาขา และบาง ม. เราสามารถยื่นใบสมัครไปที่ ม. แล้วแจ้งว่าเราจะยื่นขอทุน World Bank ด้วย ถ้า ม. ตกลงใจรับเรา เขาจะยื่นเอกสารเราให้ World Bank พิจารณาเอง (กรณีที่โตไดสาขาที่ได้คือแบบนี้) อันนี้คือเราไม่ต้องยื่นซ้ำซ้อน

อยากรู้ว่าสาขาไหน ม.ไหน เขายื่นให้ไหม … ลองอีเมลสอบถามเจ้าหน้าที่ ม. ดูได้ค่ะ

8)ส่วนใหญ่ขอทุน ภาษาอังกฤษเขาจะเอา IELTS 6.5 ขึ้นไป แล้วเอา writing 6
คนเก่งส่วนมาก เขาได้เกินนั้น …แต่อิชั้น ได้ overall 6.5 (คือมีพาร์ทบางพาร์ที่ได้ 7 หรือ 7.5) แต่ได้ writing 6 พอดี ตามเกณฑ์เขาเป๊ะ

ดังนั้น ถ้าเจอพี่ๆ น้องๆ เพื่อนๆ บอกว่า ควรได้ 7, 7.5, 8 อะไรไป ก็เชื่อเขาได้ แต่ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นมาก เพราะ 6.5 เขาก็เคยให้อิชั้นผ่านมาแล้ว (แต่ว่า พอไปเรียน ตรูก็หัวทึบช้าที่สุดอ่ะนะ มันคือกรรมเก่าที่ก่อไว้ไง)

9) ในเว็บ World Bank เขาจะเขียนไว้เลยว่า เขาเน้นคนที่เคยมีประสบการณ์การทำงานเพื่อสังคม หรือพวกข้าราชการเป็นหลัก แต่…

คืออิชั้นนี่ จบมา ก็ไปสมัครงานเป็นนักข่าวมติชนสายการเมือง เขารับแล้ว ให้เงินเดือน 8,000 บาท (ปี พ.ศ.2546) แต่ก็ไม่ทำ เพราะไม่พอกิน (ชั้นต้องจ่ายค่าหอค่าอพาร์ตเม้นท์นะคะ) แต่เอ๊ะ จะเล่าทำไมยะ… คือพอไม่ทำ งานแรกก็ทำงานบริษัทขนส่งจากเดนมาร์ก เป็นบริษัทที่เน้นขนส่งทางเรืออ่ะ ไม่ใช่ทั้งภาคราชการและภาค NGO ค่า …ทำอยู่ 9 เดือน ก็ออกมาทำงานนิตยสาร เป็นนิตยสารไม่ใช่ฮาร์ดคอร์ ดุเดือด เพื่อสังคมนะค๊า ทางเราเน้นไลฟ์สไตล์ค่ะ ภาพสวยก็สำคัญ ชีวิตรื่นรมย์ก็ควรแบ่งปันให้สังคมรู้บ้าง … คือประสบการณ์การทำงานนี่ไม่น่าจะเข้าข่ายได้ทุนเลยค่ะ เพราะไม่ได้เป็นทั้งข้าราชการและไม่อาจถือว่าทำงานเพื่อสังคมได้อย่างเต็มปาก

แต่เขาก็รับเข้าเรียน และก็ให้ทุนค่ะ

คือคิดเอาเองว่าเขาอาจอยากได้ความหลากหลายในชั้นเรียน (การเรียนปริญญาโทเป็นเรื่องของความหลากหลายด้วยเช่นกัน) อยากได้มุมมองอื่นนอกเหนือจากสังคมและราชการด้วย อีกอย่างคือ เราก็เขียน statement of purpose ไป ก็เขียนเล่าในมุมที่ว่า อาชีพที่เราทำ ทำให้เรามองสังคมไทยอย่างไร เราได้ปะทะกับสังคมไทยแบบไหน สังไทยแบบไหนที่เราอยากเห็น เราอยากจะมีบทบาทกับการพาสังคมไทยก้าวไปได้อย่างไร … คือเล่าในมุมที่เกี่ยวกับตัวเองก็ได้ เช่น อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ อันมีโรงพิมพ์เป็นแขนเป็นขา กำลังหลักของโรงพิมพ์คือช่างพิมพ์ เป็นสาขาอาชีพที่เน้นความชำนาญ ดังนั้นเมืองไทยควรเน้นการศึกษาในสายวิชาชีพ ดึงดดูดคนเข้าสู่สาขาอาชีพ อย่าง ปวช.ปวส.และสูงกว่านั้น เพราะนี่คือสาขาที่พาสังคมก้าวกระโดดได้จริงๆ อย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงศึกษาจะเข้ามามีบทบาทอย่างไร กระทรวงแรงงานควรมีนโยบายแบบไหน กระทรวงมหาดไทยเกี่ยวข้องกับกระบวนการอันนี้ได้อย่างไร

คือเขียนที่เกี่ยวกับประสบการณ์นิตยสารที่ตัวเองเกี่ยวข้องก็ได้ แต่เขียนให้มันเกี่ยวกับ “อื่นๆ”ที่นอกเหนือไปจากตัวเองด้วย

ดังนั้น คนที่คิดว่า “ฉันไม่เคยทำราชการ ไม่เคยทำ NGO ชั้นคงไม่มีสิทธิขอทุน” อย่าเพิ่งคิดอย่างนั้นนนนนนนน … ลองก่อน ลองก่อน “เลา จะ ลอ” (เอ๊ะ นี่มันบทพูดอังศุมาลิน ><)

10)ทุน World Bank และ ADB ให้ปริญญาโทเท่านั้นนะคะ ไม่ได้ให้ปริญญาตรี หรือปริญญาเอกแต่อย่างใด

ไว้ “เลา จะ ลอ” เสือกไปขอทุนเอกได้เมื่อไหร่ จะมาบอกนะคะ ว่าจะขอทุนเอกได้อย่างไร มีช่องทางไหนบ้าง

“ลอ เลา นะ”

[Japan Diary] แยกขยะเท่าที่รู้

แยกขยะเท่าที่รู้

อภิรดาบอกว่าอยากให้ฉันเขียนเกี่ยวกับการแยกขยะบ้าง อภิรดาอาจจะไม่รู้เหมือนที่น้องๆ ในบ้านพักเดียวกับฉันรู้ว่า ฉันเป็นคนที่มีปัญหากับการแยกขยะมากที่สุดในบ้านพัก ถ้าเทียบตามมาตรฐานคนญี่ปุ่นแล้ว ฉันคงสอบตกตั้งแต่ด่านต้นๆ แต่ยังไงก็แล้วแต่ นี่คือประสบการณ์ว่าด้วยการแยกขยะในญี่ปุ่นเท่าที่ฉันประสบมาตลอดหกเดือนในโตเกียว

ฉันไปถึงโตเกียวสองสามวันแรก ก็พักในโรงแรมก่อน ตอนนั้นยังย้ายเข้าบ้านพักรวมที่ชื่อ “ซากุระเฮ้าส์” ไม่ได้ เพราะอิตา แดนนี่ คนที่พักก่อนหน้าฉันยังไม่ยอมย้ายออกเสียที (แดนนี่เป็นเด็กเภสัช เรียนอเมริกา แต่บินมาฝึกงานที่ญี่ปุ่นช่วงหน้าร้อน) ตอนที่อยู่โรงแรม ฉันไม่ได้แยกขยะเลย เพราะมีอะไรก็ทิ้งลงถังที่อยู่ในห้องพักเสียทั้งหมด ฉันไม่รู้ว่าทำผิดหรือถูก แต่ฉันพูดญี่ปุ่นไม่ได้ (ข้อแก้ตัวสุดคลาสสิกที่ฉันใช้มันตลอดกาล) เอาเถอะ อย่างน้อยพนักงานโรงแรมก็ไม่เคยบ่นว่าอะไรฉัน แสดงว่ามันคงไม่ใช่เรื่องใหญ่โตมากนักหรอกน่า

วันที่ 17 สิงหาคม ปีที่แล้ว ฉันย้ายเข้าบ้านพักรวมที่ชื่อซากุระเฮ้าส์ ตอนแรกสุดที่ลากกระเป๋าเข้าบ้านมาได้ (หลังจากหลงทางอยู่กว่า 30 นาที) ฉันก็เจอกับวิลเลียม ชาวอังกฤษ ที่มาฝึกงานตอนหน้าร้อนเหมือนกัน วิลล์พาเดินไปดูห้องน้ำ ห้องครัว เครื่องซักผ้า จิปาถะ และ…”นี่คือถังสำหรับทิ้งขยะเผาได้ ส่วนนี่นี่คือที่ทิ้งขวดน้ำ กระป๋องและขวดแก้ว” ฉันถามว่า พลาสติกนี่จัดอยู่หมวดไหน มนุษย์จากประเทศอังกฤษทำหน้าคิดไปนิดนึง แล้วบอกว่า “มันอยู่ในหมวดหมู่เผาได้ เอาเป็นว่า อะไรที่ไม่ใช่ขวดน้ำ PET ไม่ใช่กระป๋อง ไม่ใช่ขวดแก้ว เธอทิ้งในอีกถังที่เขียนว่าเผาได้เป็นพอ” ประเด็นคือที่ซากุระเฮ้าส์นั้น มันมีถังขยะอยู่แค่สองประเภทเท่านั้น ฉันอยู่ที่นั่นประมาณเดือนครึ่ง เป็นเดือนครึ่งที่ฉันไม่ต้องเจอเวรขนขยะออกไปทิ้ง (คนที่บ้านพักรวมแห่งนี้ ต้องแบ่งเวรกันไปทิ้งขยะในแต่ละสัปดาห์) ถือว่าโชคดีก็ได้ แต่จะถือว่าโชคร้ายก็ไม่แปลก เพราะฉันไม่ต้องเป็นกังวลใจ มานั่งท่องจำว่าวันไหน สำนักงานเขตเขากำหนดให้ขนขยะเผาได้ออกไปทิ้ง วันไหนคือวันที่ถึงกำหนดขนขยะพวก “กระป๋อง แก้ว ขวดน้ำ” ออกไป ฉันมีหน้าที่แค่แยกลงถังที่วางตัวอยู่ในห้องครัวบ้านพักให้ถูกถังเท่านั้น

ครั้งหนึ่งฉันเคยคุยกับวิลล์ว่า การแยกขยะเป็นสิ่งที่ฉันไม่คุ้นเคย วิลล์ถามคำถามที่เล่นเอาฉันสะอึกว่า “ทำไมล่ะ อย่าบอกนะว่าบ้านเธอไม่มีการแยกขยะ” คำว่า your home ที่วิลล์ใช้นั้น ฉันไม่รู้ว่าเขาตั้งใจจะหมายถึง “บ้านเกิดฉัน” หรือหมายถึง “ประเทศไทย” กันแน่ แต่ที่แน่ๆ ได้ยินแล้วก็แอบเจ็บปวดไม่น้อย

พอย้ายเข้าบ้านพักที่อยู่มาปัจจุบัน แต่ละคนแต่ละห้องต้องรับผิดชอบขยะของตนเอง ฉันเลยต้องเริ่มศึกษากระบวนการนี้จนได้ แต่เพราะว่าสมัยที่อยู่ซากุระเฮ้าส์ ทุกคนในบ้านพัก รวมถึงเด็กจีน ก็จะทิ้ง “ขวดน้ำ” ไปทั้งขวด (หมายถึงทั้งฝา ทั้งฉลาก ยังอยู่ครบถ้วน) แถมยังไม่ล้างขวดน้ำก่อนทิ้งอีกต่างหาก แถมเวลาไปคณะ คนในคณะก็แค่นำขวดหรือกระป๋องที่จะทิ้ง ทิ้งลงถังที่แยกไว้แค่นั้นเอง ไม่มีใครมาล้างขวดล้างกระป๋องก่อนทิ้ง ฉันเลยเข้าใจมาตลอดว่าการทิ้งขวดหรือกระป๋องโดยไม่ล้างนั้น เป็นสิ่งที่ถือเป็นมาตรฐานยอมรับได้ … แหม เด็กจีนเด็กญี่ปุ่นก็ทำกันให้เห็นต่อหน้านี่นา

ฉันเพิ่งมารู้ไม่นานนี้ว่า สำหรับ “ผู้พักอยู่อาศัย” ในญี่ปุ่นนั้น การแยกขยะที่ถูกต้อง และควรถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ (เท่าที่คนอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออกอย่างฉันรู้) ก็คือ

1)ในรอบสัปดาห์ เขตที่เราพักอาศัย จะกำหนดวันทิ้งขยะเอาไว้ วันทิ้งขยะหมายถึง วันที่เราสามารถเอาขยะที่เราแยกไว้ในห้องพักของเรา (แยกใส่ถุงขยะไซส์ขนาดพอเหมาะ …อย่าเล็กไป อย่าใหญ่ไป … วะ .. จะอะไรกันนักหนากับไซส์อ่ะ) ไปวางไว้ที่หน้าบ้าน หรือทางเท้าหน้าบ้านได้ แล้วช่วงเวลาก่อน 8 โมงเช้า สำนักงานเขตจะขับรถมาทยอยเก็บขยะที่บ้านแต่ละหลังวางไว้ ในเขตที่ฉันพัก ถ้าจำไม่ผิด วันสำหรับทิ้งขยะเผาได้ คือ เช้าวันจันทร์กับเช้าวันพฤหัสบดี ส่วนวันที่ทิ้งขยะขวดน้ำ PET ขวดแก้ว และกระป๋อง คือเช้าวันพุธ

2)สำหรับขยะจำพวกขวดน้ำ PET ขวดแก้ว และกระป๋อง (อาทิ กระป๋องกาแฟ) ถ้าเอาแบบให้ถูกต้องเลยนะ …คือ ขวดน้ำ (กรุณานึกภาพ ขวดน้ำเปล่าเนสท์เล่) ต้องเอาฉลากที่เป็นพลาสติกออก (ฉลากเนสท์เล่อ่ะ) รวมถึงแกะฝาออกด้วย และถ้าให้สมบูรณ์แบบ มันจะเหลือไอ้วงขาวๆ ตรงบริเวณหมุนเกลียวใช่ไหม นั่นน่ะ ถ้าทำได้ ก็จงเอามีดมางัดและตัดมันออกเสีย เอาแบบสั้นๆ ก็คือ เอาแค่ขวดใสๆ น่ะไปทิ้ง ส่วนพวกฉลาก และฝาขวดที่ว่ามา ให้เอาไปทิ้งวันเดียวกับขยะเผาได้

นอกจากนี้ ขวดน้ำ PET ขวดแก้ว (อาทิ ขวดซอสหยั่นว่อหยุ่นต่างๆ หรือขวดแยม) และกระป๋อง ต้องล้างก่อนนำไปทิ้ง

ในส่วนขยะจำพวกพิเศษนี้ คืนก่อนหน้าที่เขตจะมาเก็บ (เขตมาเก็บตอนเช้า) ทางเขตจะเอาพวกตระกร้ามาวางเป็นจุดๆ ที่ริมทางเท้า เราก็เอาขวดและกระป๋อง (ที่ล้างแล้ว) เหล่านี้ ไปวางตามตระกร้านั่นแหละค่ะ

ทีนี้ถามว่า ถ้าไม่ล้าง จะเป็นอะไรไหม …ไม่ล้างไม่เป็นไรหรอก เพราะเคยไม่ล้างไง (ไม่รู้นี่นา) แต่สักพัก สังคมญี่ปุ่นจะเตือนคุณเอง ด้วยการที่คนที่อยู่รายรอบชีวิตเรา เขาจะเดินมาบอกเรา ว่าเราต้องล้างนะ มันเป็นความรับผิดชอบ

คือกฎหมายไม่ได้มาจับไงถ้าไม่ล้าง แต่สังคมจะเดินมาบอกเอง แล้วถ้าสังคมบอกแล้วยังเสือกทำอีกเรื่อยๆ ไม่ปรับปรุงตัว สังคมก็จะตราหน้าว่าเราไม่มีความรับผิดชอบอ่ะ

จากเคสทิ้งขยะนี้เอง ที่ทำให้ติ๊กต่อกถึงบางอ้อว่า ญี่ปุ่นนี่มันเป็นประเทศที่ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยกฎหมายหรอกนะ มันขับเคลื่อนด้วยระบบสังคม เขาให้คนในสังคม (ชุมชน) กดดันกันเองอ่ะ … ซึ่งมนุษย์ส่วนใหญ่ก็ไม่อยากถูกตราหน้าว่าขาดไร้ความรับผิดชอบหรอก พอโดนบอกหลายๆ หนเข้า ก็เริ่มจะทำตามในที่สุด

3)นอกจากขยะสองประเภทที่ว่ามา มันยังมีขยะอีกหลายประเภทใช่ไหม เช่น ถ้าจะทิ้งทีวีเครื่องเก่าจะทำยังไง ถ้าซื้อยาฆ่าแมลงมาใช้ แล้วมันจัดอยู่ในหมวดขยะแบบไหน ต้องทิ้งวันไหน … ขยะพวกพิเศษนี้ เขตจะกำหนดวันทิ้งในแต่ละเดือนไว้ เช่น เสาร์แรกของเดือน เป็นต้น แล้วขยะใหญ่ๆ ถ้าจะทิ้งที (เขาว่ากันว่า … คือยังไม่เคยทิ้งอ่ะ) เราต้องจ่ายเงินค่าจัดการขยะเหล่านี้ (บางทีไม่ใช่น้อยๆ นะคะค่าจัดการขยะนี่) ดังนั้น เวลาเราจะซื้อสินค้าอะไรใหญ่ๆ ที เราก็ต้องคิดแล้วคิดอีก คิดเผื่อวันทิ้งด้วยอ่ะ อย่างทีวีนี่ ค่าทิ้งน่าจะราวๆ 3000 เยนได้นะ

4)อันนี้ไม่รู้เลย แต่คิดเอาเองว่า บริษัทที่มาขนขยะในแต่ละสัปดาห์ น่าจะเป็นบริษัทคนละเจ้า คือเจ้าที่มาเก็บขยะ “เผาได้” ก็น่าจะเป็นเจ้าหนึ่ง ที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดเก็บแบบนี้ ส่วนเจ้าที่มาเก็บขยะ “ขวด กระป๋อง แก้ว” ก็น่าจะเป็นอีกเจ้า ที่เชี่ยวชาญและนำขยะเหล่านี้ไปรีไซเคิลได้ทันที …คิดเอาเองว่าเขตไม่น่าจะจัดการเอง (ใครรู้บอกได้นะคะ) คือเคยตื่นมาดูรถที่มาเก็บขยะ แล้วพบว่า รถที่มาวันจันทร์ กับรถวันพุธ มันคนละรถกัน (คนละสี คนละรูปแบบ) เลยคิดว่า เขตน่าจะให้บริษัทแต่ละเจ้าประมูล แล้วก็มารับไป ซึ่งไม่รู้ว่า แต่ละเขต จะใช้บริการแต่ละเจ้าเหมือนกันไหม (ข้อ 4 นี่เดาเอาหมดเลยนะค๊า ไม่รับประกันความถูกผิด แต่รับการท้วงติงค่า)

5)จบแล้ว รู้เท่านี้แหละ … ไม่รู้ว่าขยะนับจากนี้ เขาขนไปไว้ ณ แห่งหนใด เขามีระบบจัดการกับมันแบบไหน ใครรู้ หรือรู้ช่องทางในการเสาะหาเอกสารมาอ่านต่อ กรุณาบอกด้วยนะคะ อยากให้เทศบาลเขาวง เอามาใช้จัง แค่แยกขยะนี่สังคมเปลี่ยนเลยนะคะ ขอบอก (เหรอ)

[ชีวิตอื่น: Gaijin in Tokyo] : เจนนี่กับเหว่ยเหวิน

 

ฉันตั้งชื่อตอนนี้ว่า “เจนนี่กับเหว่ยเหวิน” แต่ ณ​ ขณะนี้ นอกจากเป็นเพื่อนร่วมชาติจีนแผ่นดินใหญ่แล้ว สองคนนี้ไม่ได้เป็นอะไรในเชิงโรแมนติกกันทั้งนั้น (กรุณาสังเกตคำว่า “ณ ขณะนี้”) ฉันเจอสองคนนี้ในเทอมที่แล้ว อันเป็นเทอมแรกในโตไดของฉันกับเจนนี่ แต่เป็นเทอมที่สามของเหว่ยเหวิน

 

ฉันเจอเจนนี่ครั้งแรกในสัปดาห์ที่สองของการเปิดเรียน แต่เป็นสัปดาห์แรกของคลาสวิชาพลังงานความมั่นคง (เพราะสัปดาห์แรกคลาสนี้งด) คลาสนี้เป็นคลาส 20 คนที่จัดสอนในห้องขนาดเล็ก (มาก) ทุกคนจึงมองหน้ากันแว่บเดียวแล้วน่าจะจำได้กันได้หมด จริงๆ ฉันควรจะเขียนว่า “ฉันเจอเหว่ยเหวินในคลาสนี้ด้วยเช่นกัน” แต่ประเด็นคือ ด้วยเหตุผลอะไรไม่รู้ ในคลาสแรกนั้นฉันจำเหว่ยเหวินไม่ได้เลยแม้แต่น้อย ดังนั้นสำหรับความทรงจำของฉัน ในคลาสแรกของวิชานี้ ฉันจึงรู้สึกว่าตัวเองได้เจอแค่เจนนี่คนเดียวเท่านั้น

 

คลาสแรกของวิชาพลังความมั่นคงเป็นคลาสที่ทำเอาฉันขนหนีดีฝ่อมาก ทุกคนในคลาสล้วนมีความรู้เกี่ยวกับพลังงานกันอย่างดีอยู่แล้ว ฉันจำได้ว่าหนแรกเลย เซนเซก็พูดถึงวิกฤตน้ำมันที่เกิดขึ้นในยุคต่างๆ ฉันแทบจะลมจับเมื่อพบว่าตัวเองไม่รู้เรื่องอะไรเลยแม้แต่น้อย แถมทักษะการฟังภาษาอังกฤษของฉันก็แย่มาก ที่สำคัญ ในคลาสนั้น นอกจาก “เคที่” เด็กจีนอายุ 23  ปีที่ช่วยดูแลฉันในช่วงก่อนเปิดเทอมแล้ว ฉันแทบไม่รู้จักคนในคลาสคนอื่นๆ มาก่อนเลย พอได้ยินที่เซนเซบอกว่า “ช่วงท้ายของเทอม พวกคุณต้องจับกลุ่มทำพรีเซนเตชั่นกัน” ระดับความกังวลของฉันก็พุ่งปรี๊ด พอๆ กับที่ทักษะในการพยายามเอาตัวรอดก็เริ่มโผล่หน้ามาเคาะประตู

 

ฉันไปเจอแอคเคาน์เฟซบุ๊คของเจนนี่ในกรุ๊ปคณะ ฉันจำแทบไม่ได้แล้วว่าหน้าตาเธอเป็นไง ฉันรู้แต่ว่า เธอเรียนคลาสเดียวกับฉัน และฉันควรผูกมิตรกับเธอไว้ ฉันเลยส่งคำร้องขอเป็นเพื่อนไป พร้อมกับเขียนข้อความไปบอกเธอว่า “ฉันคิดว่าเราเรียนคลาสวิชาพลังงานความมั่นคงด้วยกัน ฉันชื่อติ๊กต่อกนะ ยินดีที่ได้รู้จัก” จากนั้นวันรุ่งขึ้น เธอตอบรับคำขอเป็นเพื่อน แล้วส่งข้อความกลับมาว่า “ยินดีที่ได้รู้จักติ๊กต่อก ถ้ามีอะไรให้ช่วยก็บอกนะ” แล้วตลอดสัปดาห์นั้น ฉันก็ไม่ได้เจอเธออีกเลย

 

สัปดาห์ที่สามของการเปิดเทอม ซึ่งถือเป็นสัปดาห์สุดท้ายที่เราจะเลือกลงทะเบียนวิชาอะไรก็ได้ ฉันพบว่าตัวเองมีปัญหากับวิชาหนึ่งที่เคยตั้งใจจะลงเรียน หลังจากใคร่ครวญอะไรบางอย่าง ฉันตัดสินใจตามน้องคนไทยคนหนึ่งไปลองสำรวจวิชานโยบายและความสัมพันธ์ต่างประเทศของจีนยุคใหม่ ที่สอนอยู่ในตึกอันไกลโพ้น (ห่างจากคณะฉันไปสัก 15 นาทีเดิน) ดู ก่อนเข้าคลาส ฉันแวะปรินท์งานที่ตึกคณะสี่ห้าแผ่น ความที่รีบ ทำให้ฉันหยิบเอกสารที่อยู่ในถาดปรินท์ออกมาทั้งหมด แล้วระหว่างเดินไปเรียน ฉันก็ค้นพบว่า ฉันดันหยิบเอาเรซูเม่ของผู้หญิงคนหนึ่งที่ชื่อ “หลี่เจีย”​ ติดมือมาด้วย

 

ฉันไม่ได้ตั้งใจจะสอดรู้สอดเห็นเรซูเม่ของใครหน้าไหนหรอกนะ แต่ไหนๆ เผลอหยิบเอกสารติดมือมาแล้ว ฉันลองอ่านข้อมูลดูเผื่อจะหาเบอร์ติดต่อของ “หลี่เจีย” แล้วติดต่อส่งคืนเธอดีกว่า ในกระบวนการ “ลองอ่านดู”​นั้น ฉันพบว่า ผู้หญิงอายุยังไม่ถึงสามสิบปีคนนี้ เรียนจบมาแล้วหนึ่งปริญญาโทก่อนมาที่นี่ (แสดงว่านี่เป็นปริญญาโทใบที่สองของเธอ) เธอเขียนแนะนำตัวเองว่าใช้ภาษาอังกฤษและจีนได้อย่างคล่องแคล่ว ภาษาญี่ปุ่นอยู่ในระดับกลาง เธอเคยทำงานมาแล้วที่ไมโครซอฟท์ (โห) เธอนิยามตัวเองว่าเป็นคนเรียนรู้เร็ว (แตกต่างกับฉันราวฟ้ากับเหว) ในเรซูเม่ของเธอ “หลี่เจีย” ดูเป็นมนุษย์ที่ไม่น่าคบหาเอาเสียเลย … แหม ก็ยัยคนนี้น่ะ ดูจะเก่งไปเสียทุกอย่างทั้งเรียนทั้งทำงานน่ะสิ

พอถึงห้องเรียนวิชานโยบายจีนฯ​ ฉันก็เก็บเรซูเม่ของเธอเข้าแฟ้ม แล้วเริ่มต้นทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ในคลาส จริงๆ คนที่นั่งข้างฉันในคลาสเรียนวันนั้น ก็เป็นอีกคนที่มีประเด็นให้เขียนถึง แต่เอาไว้วันหลังค่อยเล่าแล้วกัน

 

ระหว่างช่วงเบรกที่เซนเซให้พวกเราอภิปรายและถกความคิดเห็นกันเรื่องนโยบายเกาะเตียวหยู (เกาะเซนกากุ) ที่จีนกับญี่ปุ่นมีข้อพิพาทกันอยู่นั้น อยู่ๆ ฉันก็คิดขึ้นมาได้ว่า ชื่อที่เจนนี่ใช้ในเฟซบุ๊คนั้น มันสะกดเหมือนกับชื่อ “หลี่เจีย” ที่อยู่ในเรซูเม่ที่ฉันเผลอหยิบมาเหลือเกิน ฉันเลยลองถ่ายรูปเรซูเม่ แล้วส่งเฟซบุ๊คเมสเซสหาเจนนี่ “เจนนี่ ฉันเผลอหยิบเรซูเม่ใครสักคนมา นี่ใช่เอกสารของเธอรึเปล่า” สามวินาทีหลังเมสเซสถูกส่งไป เธอตอบกลับมาว่า “ใช่แล้ว เรซูเม่ของฉันเอง” “ฉันอยู่ในคลาสวิชาจีนอะไรสักอย่าง เลิกเรียนแล้วเดี๋ยวฉันเอาไปคืนเธอที่คณะนะ” ฉันตอบเธอไปอย่างนั้นพลางเก็บมือถือเก็บเข้ากระเป๋า แต่แล้วสองนาทีหลังจากนั้น ผู้หญิงคนหนึ่งก็เดินมานั่งข้างฉัน “เธอคือติ๊กต่อกหรือเปล่า” ใครกันวะยัยหน้าจีนผมยาวนี่? ฉันคิดในใจก่อนพยักหน้าตอบ “ฉันคือเจนนี่ไง” อ้าว…สรุปว่า เจนนี่ หรือ “หลี่เจีย” ก็ลงเรียนในคลาสวิชาจีนฯ นี้เช่นกันงั้นรึ

 

และนี่คือเรื่องราวตอนที่เราเจอกันครั้งแรก

 

ส่วนเหว่ยเหวินนั้น ฉันเจอกับเหว่ยเหวินครั้งแรกตอนไหนฉันก็จำไม่ได้แน่ชัด ฉันอาจเจอเหว่ยเหวินตอนคลาสแรกสุดของวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาคสำหรับนโยบายสาธารณะ (ชื่อยาวฉิบ) เพราะเขาคือหนึ่งในสองของผู้ช่วยสอน (ที.เอ.) ในคลาสนั้นก็เป็นได้ หรือจริงๆ ฉันอาจจะเจอเขาก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่ช่วงก่อนเปิดเทอมที่ฉันต้องแวะมาคณะบ่อยๆ แล้วเคยขอความช่วยเหลือจากพวกรุ่นพี่คณะบางคน ฉันอาจจะเจอเขาได้อีกในหลายรูปแบบ…แต่ประเด็นคือ ฉันจำไม่ได้จริงๆ ฉันเริ่มจำเขาได้อีกหนตอนที่เปิดเรียนไปแล้วประมาณเกือบเดือน เขามาเฉลยการบ้านวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาคฯ​ อะไรนั่น …​อ้อ จำได้แล้ว ช่วงสองสัปดาห์แรกเหมือนเขาจะมาช่วยสอนเหมือนกัน แต่ฉันโดดเรียนคลาสนั้น (แฮ่) ฉันเลยไม่ได้เจอเขานั่นเอง ฉันมาเจอเขาอีกทีก็ตอนเฉลยโจทย์การบ้านเลย วันนั้นแม้จะมีเด็กปีหนึ่งหลายคนยกมือถามและถกเถียงวิธีแก้โจทย์กับเขาอยู่หลายคน แต่ฉันคิดว่า วิธีที่เหว่ยเหวินใช้อธิบายนั้น เป็นวิธีที่เข้าใจง่ายมากๆ (สำหรับคนสมองช้าอย่างฉัน) พอเลิกคลาสเย็นนั้น ฉันเลยเดินไปบอกเขาว่า “ขอบคุณมากสำหรับวันนี้ ฉันคิดว่าเธออธิบายได้เข้าใจง่ายดี” เขาทำหน้าตกใจว่า “เหรอๆ ฉันนึกว่าฉันอธิบายได้แย่มากเสียอีก” ฉันบอกว่า “ไม่จริงหรอก เธอพยายามอธิบายจากพื้นฐาน ซึ่งสำหรับคนบางคน…อย่างฉันนี่แหละ มันจำเป็นมากที่ต้องเข้าใจจากพื้นฐานก่อน” ถ้าฉันจำไม่ผิด นั่นน่าจะเป็นบทสนทนาแรกสุดของฉันกับเด็กจีนจากกวางตุ้งคนนี้

 

จากนั้น ฉันก็ได้บังเอิญเดินเจอเจนนี่บ้าง เหว่ยเหวินบ้าง เจอในคลาสวิชาพลังงานฯ​ บ้าง แต่เราแทบไม่เคยได้มีโอกาสคุยกันยาวๆ เลย พร้อมๆ กับอากาศที่ค่อยๆ หนาวเย็นลงเรื่อยๆ ทุกคนก็ดูจะยุ่งวุ่นวายกับวิชาเรียน การบ้าน รายงาน พรีเซนเตชั่นของแต่ละคน แล้วในค่ำวันหนึ่งที่ฉันอ่านหนังสืออยู่ที่คณะจนใกล้สองทุ่ม ฉันก็บังเอิญเดินเจอเจนนี่ตรงทางเดินในตึกคณะ ฉันถามเธอว่ากำลังจะกลับบ้านเหรอ เธอบอกว่า กำลังจะไปกินข้าวเย็น ฉันถามว่า ไปกับเพื่อนหรือไปคนเดียว เธอว่า กินคนเดียวนี่แหละ ก่อนจะนั่งรถไฟกลับหอ ฉันเลยบอกว่า อาหารจีนใช่ไหม ถ้าอาหารจีน ฉันขอไปกินด้วยนะ

 

ฉันก็เลยได้ไปนั่งกินข้าวกับเจนนี่ในที่สุด

 

เจนนี่ตัวเป็นๆ แตกต่างจาก “หลี่เจีย” ในเรซูเม่แสนเพอร์เฟ็กต์นั้นอยู่หลายอย่าง อย่างหนึ่งคือเธอดูไม่น่าหมั่นไส้เท่ากับยัยผู้หญิงในเรซูเม่ เธอดูเป็นคนธรรมดาเหมือนพวกเรานี่แหละ ฉันถามเธอว่า ทำไมฉันไม่ค่อยเจอเธอในคลาสพลังงานฯ​ เลย (หมายถึงเธอชอบหายตัวไปนั่นเอง) เธอหัวเราะ ก่อนจะบอกว่า เธอเห็นว่าเซนเซวิชานี้ใจดี แล้วบางทีเธอก็มีธุระนั่นนี่ต้องทำ เธอเลยเลือกโดดวิชานี้แทนที่จะโดดวิชาอื่น (เซนเซผู้ใจดีจะรู้สึกยังไงน้า?) เธอถามฉันว่า ฉันอยู่ปีหนึ่งเหรอ ฉันพยักหน้า “อื้อ…ส่วนเธอเป็นพวกเด็กสองปริญญาหรือเปล่า” คือที่คณะของฉันนี่ มีเด็กจากหลายโปรแกรมเรียนปะปนกันไปหมด เด็กปกติอย่างพวกฉันก็ต้องเรียนที่นี่สองปีจนจบ ส่วนอีกพวก ก็คือแคมปัสเอเชีย ในเวลาสองปี พวกนี้จะต้องหมุนเวียนไปเรียนที่โตเกียว โซล และปักกิ่ง จนครบ พอจบแล้วก็จะได้สามปริญญาโท (โห) ส่วนอีกพวกหนึ่งก็คือจะเป็นเด็กสองปริญญา หมายถึง เรียนหนึ่งปีจากมหาวิทยาลัยหนึ่ง แล้วขอมาเรียนกับอีกที่หนึ่งที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน เช่น เด็กจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่อเมริกา ก็สามารถมาเรียนที่โตไดหนึ่งปี แล้วกลับไปเรียนที่ ม.โคลัมเบีย อีกปี จบแล้วก็จะได้สองปริญญา เป็นต้น เจนนี่นั้นเรียนจบปีหนึ่งจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติที่สิงคโปร์แล้ว เธออยากมาโตเกียว เลยทำเรื่องขอเรียนสองปริญญาที่นี่ ดังนั้น แม้จะเป็นเทอมแรกของเธอที่โตได แต่ดูเหมือนว่า เธอจะเหลือเวลาเรียนอีกไม่นานนัก

 

ฉันถามเธออีกหลายอย่าง ทั้งเรื่องทำนองว่า เธอเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนหรือเปล่า ที่กล้าถามอย่างนี้ เพราะว่าฉันพอจะรู้มาบ้างว่าสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์นั้นมักเป็นพวกเด็กเรียนเก่ง แล้วเจนนี่ก็ดูเป็นคนอย่างนั้น ดูเป็นเด็กที่มีศักยภาพที่พรรคคอมมิวนิสต์น่าจะมาชวนเข้าเป็นสมาชิกน่ะ เธอพยักหน้าตอบรับ ก่อนจะถามฉันกลับว่า “แต่เธอรู้ใช่ไหมว่าสมาชิกพรรคเดี๋ยวนี้ก็เหมือนเราสมัครเข้าทำงานบริษัทใหญ่นั่นแหละ มันเป็นเรื่องของความมั่นคงในอาชีพการงาน เป็นเรื่องความก้าวหน้าของชีวิต ไม่ใช่อุดมการณ์อะไรนั่นแล้ว” ความที่ฉันเคยอ่านเอกสารพวกนี้มาก่อน ฉันเลยพยักหน้าว่าเข้าใจ แม้ในใจตอนนั้นจะแอบตื่นเต้นหน่อยๆ ที่ได้มีโอกาสนั่งกินข้าวกับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนเชียวนะ (โว้ย) อยู่ก็ตาม

 

เจนนี่อายุยังไม่ถึงสามสิบ นอกจากความเฉลียวฉลาดที่เธอมีมากกว่าฉันแล้ว ฉันคิดว่าเราเหมือนกันหลายๆ อย่าง จริงๆ จะบอกว่าเราเหมือนกันอาจจะไม่ถูกต้องนัก ที่น่าจะใกล้เคียงคือ เรามีความคิดไปในทางเดียวกันหลายเรื่องมากกว่า เจนนี่ยังไม่ได้แต่งงาน และไม่ใช่ว่าเธอไม่อยากด้วย เพียงแต่ว่าเธอบอกว่า “มันแค่ยากน่ะ ยากที่จะเจอใครจริงๆ” เธอถามหลังจากรู้อายุฉันว่า “แม่เธอไม่กังวลเหรอที่เธอยังไม่ได้แต่งงาน” ฉันทำหน้ายิ้มๆ บอกเธอว่า แม่ฉันน่าจะกังวลอยู่หรอก แต่มันเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้นี่นา เธอบอกว่าพอเธอได้ปริญญาใบนี้ (อันหมายถึงเธอจะได้ทั้งจาก ม.สิงคโปร์ และ ม.โตเกียว) เธอจะเป็นหญิงสาวผู้มีสามปริญญาโททันที และ “ฉันคงหางานทำที่โตเกียวนี่แหละ” เจนนี่เป็นเหมือนเด็กจีนเก่งๆ จำนวนมากในญี่ปุ่น ที่อยากปักหลักทำงานที่นี่ก่อน ดังนั้น นอกจากจะพยายามตั้งใจเรียนในคลาสเรียนปกติแล้ว เธอเลยต้องแบ่งปันเวลาไปตั้งใจกับคลาสภาษาญี่ปุ่นด้วย เหตุผลที่เธออยากปักหลักอยู่ญี่ปุ่นก่อน ก็ไม่มีอะไรมากกว่า “มันคือโอกาส คนจีนน่ะถ้าเคยทำงานที่บริษัทญี่ปุ่นแล้ว ถ้ากลับไปเมืองจีน โอกาสดีๆ อีกมากก็จะวิ่งเข้ามาหาเอง” ฉันถามเธอว่าแล้วพรรคจะไม่ว่าอะไรเหรอถ้าเธอทำงานที่ญี่ปุ่น เจนนี่หัวเราะ ก่อนบอก “การเป็นสมาชิกพรรคสมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อนแล้ว มันไม่ได้การันตีว่าเราจะมีโอกาสทำงานกับพรรคเสียหน่อย เราอาจมีโอกาสมากกว่าคนอื่น เพราะสังคมเชื่อแล้วว่าคนที่ถูกเลือกให้เป็นสมาชิกต้องมีดีพอตัว แต่ถ้าเราไม่อยากทำงานที่เมืองจีน ก็ใช่ว่าพรรคจะมีสิทธิห้าม หรือมีสิทธิมาจัดการปิดปาก” ตรงคำว่า “ปิดปาก” นั้น เธอใช้คำภาษาอังกฤษว่า​ “kill” นั่นเอง

 

 

กลับมาที่เหว่ยเหวินบ้าง ก่อนโตไดจะปิดคริสต์มาสและปีใหม่เป็นระยะสองสัปดาห์ เซนเซคลาสวิชาความมั่นคงด้านพลังงานสั่งให้พวกเราจับกลุ่มและเสนอหัวข้อพรีเซนเตชั่นที่จะเกิดขึ้นหลังปีใหม่ วันนั้นฉันนั่งข้างเหว่ยเหวินพอดี ฉันเลยหันไปถามเขาว่า “เธอสนใจทำหัวข้อเรื่องพลังงานทางเลือกในจีนไหม” เหว่ยเหวินทำหน้านิ่งไปเล็กน้อย คงสงสัยว่า ฉันต้องการสื่อสารอะไรกับแน่ ฉันเลยบอกต่อว่า “ฉันเคยคุยกับเจนนี่ไว้แล้วว่าอยากทำเรื่องนโยบายพลังงานในจีน เธอมีกลุ่มหรือยัง ถ้ายัง เรามาอยู่กลุ่มเดียวกันไหม เธอ ฉัน เจนนี่” วันนั้นเจนนี่ไม่ได้เข้าเรียน เหว่ยเหวินดูจะไม่มีตัวช่วยในการขอความเห็น (ฮา) เขาเลยขอเฟซบุ๊กฉันไว้ แล้วสักพักเขาก็เขียนข้อความใส่กระดาษถามว่า “ถ้าจะมีเพื่อนพม่าของฉันมาร่วมกลุ่มด้วยจะได้รึเปล่า” ฉันเลยเขียนตอบไปว่า “ได้สิ เซนเซบอกว่ากลุ่มหนึ่งมีสมาชิกได้ถึง 5 คนนี่นา” แล้วตอนที่ฉันเขียนโต้ตอบกับเหว่ยเหวินนั้น วินเซนต์ ซึ่งเป็นเด็กคณะวิศวกรรมที่นั่งข้างๆ ฉันอยู่ก็หันมาถามว่า “ฉันเข้ากลุ่มกับพวกเธอได้ไหม” ความที่ฉันเป็นมนุษย์ที่มักมองหาตัวช่วยเพื่ออยู่รอดในชั้นเรียนเสมอ (เพราะฉันคนเดียวคงไม่รอดแน่ๆ) ฉันเลยพอจะเข้าใจได้ว่า เวลามีคนเอ่ยปากขอเข้ากลุ่มรายงานนั้น เราไม่ควรปฏิเสธเขาหรอก อย่างน้อย เราก็ไม่ควรปฏิเสธในทันที ฉันเลยบอกว่า “ไว้เราคุยกันหลังคลาสเลิกนะ” แล้วหลังคลาสนั้น ฉันก็ใช้ความเป็นเผด็จการหน่อยๆ จนฟอร์มกลุ่มพรีเซนเตชั่น 5 คนได้สำเร็จจนได้ เรียกได้ว่า ความกังวลใจที่มีมาตั้งแต่เริ่มคลาสแรกแทบจะละลายหายไปเลย ฮ่าฮ่า

 

หลังจากนั้น เราก็ต้องนัดมาคุยงานและแบ่งงานกันเป็นระยะ เป็นช่วงนี้เองที่ฉันได้มีโอกาสเจ๋อไปนั่งกินข้าวกับเจนนี่และเหว่ยเหวิน ความที่เจนนี่กับฉันลงเรียนวิชาเกี่ยวกับนโยบายจีนฯ อันเป็นวิชาที่เหว่ยเหวินลงเรียนเมื่อปีก่อนและได้ A+ มา (อันหมายถึงฮีต้องเก่งมากถึงได้เกรดนี้มาครอง) เจนนี่กับฉันเลยปรึกษาเหว่ยเหวินเกี่ยวกับวิชานี้ พลางคะยั้นคะยอให้ฮีเล่าถึงรายงานที่เคยทำเมื่อปีก่อน รายงานที่เหว่ยเหวินทำนั้น เป็นรายงานเกี่ยวกับการเลือกตั้งในหน่วยที่เล็กที่สุดของจีน “ประมาณสภาชุมชนน่ะ รู้จักไหม” เหว่ยเหวินเล่าว่า ถึงจีนจะมีพรรคคอมมิวนิวต์เป็นแกนหลัก และไม่มีการเลือกตั้งในระดับประเทศ แต่จีนมีการเลือกตั้งในระดับชุมชน รวมถึงมีสภาชุมชนเกิดขึ้น รายงานของเหว่ยเหวินเลือกเจาะในหน่วยปกครองที่เกือบจะเล็กที่สุดของจีน แต่ขณะเดียวกัน มันก็เป็นหน่วยเล็กๆ ที่สะท้อนภาพใหญ่ของประเทศได้เป็นอย่างดี เพราะข้อสรุปที่เขาค้นพบคือ ไม่ว่าสภาชุมชนจะมาจากการเลือกตั้งอันหมายถึงสะท้อนเจตจำนงของคนในชุมชนขนาดไหน แต่ตัวแทนสภาเล็กๆ เหล่านี้ ก็ต้องรับคำสั่งจากตัวแทนรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอีกที สุดท้าย การเลือกตั้งในหน่วยเล็กๆ ที่หลายคนเชื่อมั่นว่าอาจจะสั่นคลอนให้จีนเกิดการเลือกตั้งระดับประเทศได้ ก็เป็นเพียงกระบวนการชะโลมใจอันเต็มไปด้วยทางตันเท่านั้น นอกจากนี้ ปรากฏการณ์นี้ยังใช้อธิบายการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการในทุกภาคส่วนของสังคมจีน ทั้งการเลือกตั้งหัวหน้าชมรมนักเรียนนักศึกษา การโหวตเลือกผู้นำสหภาพต่างๆ ที่สุดท้ายก็ต้องถูกเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางเข้ามาควบคุมทั้งหมด “สุดท้าย การเลือกตั้ง ก็จะถูกการแต่งตั้งเข้าควบคุมจัดการ” พอเหว่ยเหวินเล่าถึงตรงนี้ ฉันกับเจนนี่ก็ถึงบางอ้อทันทีว่าทำไมฮีถึงได้ A+ จากเซนเซมาเชยชม …​แหม มันก็สมควรแหละนะ

 

“ติ๊กต่อก เธออยากรู้อะไรก็ถามเหว่ยเหวินได้นะ เหว่ยเหวินรู้ทุกอย่าง”​ ช่วงหนึ่งของการกินข้าว อยู่ๆ เจนนี่ก็พูดขึ้นมา ฉันเลยถามไปว่า “เออ แล้วเธอชอบที่ไหนในญี่ปุ่นมากที่สุด” เหว่ยเหวินทำหน้าคิด (มาก) นิดนึงตามประสาฮีที่มักจะจริงจังกับทุกคำถามเสียจริง ก่อนจะตอบออกมาว่า “ฮอกไกโด มันสวยมากนะ โดยเฉพาะหน้าหนาว” ฉันถามไปว่า “อ้าว แล้วถ้าเทียบกับฮาร์บิน เมืองที่หนาวมากๆ ของจีนล่ะ” “โอ้ย ไม่มีที่ไหนในโลกสู้ฮอกไกโดในหน้าหนาวได้หรอก แม้กระทั่งฮาร์บินก็เถอะ” เหว่ยเหวินยืนยันเสียงหนักแน่นก่อนจะใช้ตะเกียบตักข้าวเข้าปาก ฉันเลยถามว่าแล้วปิดเทอมเดือนกุมภาพันธ์ที่ยังหนาวอยู่นี้เขาจะทำอะไร จะกลับเมืองจีนหรือเปล่า เหวิ่นเหวินบอกว่าเขาจะลงใต้ไปโอกินาว่าเมืองที่ร้อนที่สุดของญี่ปุ่น

“เดี๋ยวนะ” ฉันพูดแทรกกลาง “เธอแนะนำให้ฉันไปฮอกไกโดในช่วงหนาวนี้ ขณะที่เธอหนีหนาวลงไปทะเลตอนใต้นี่นะ?” พอฟังคำฉันพูด เหว่ยเหวินก็หัวเราะขึ้นมาเหมือนเพิ่งนึกได้ว่าสิ่งที่ฮีพูดไปนั้นแสนขัดแย้งกันเอง

 

ครั้งหนึ่งเจนนี่เคยถามฉันว่า การที่ฉันอยู่ในกลุ่มรายงานเดียวกับเหว่ยเหวิน ซึ่งมีอีกบทบาทเป็นผู้ช่วยสอน (ที.เอ) ในวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาคฯ นั้น ทำให้ฉันได้ประโยชน์มากกว่าคนอื่นบ้างไหม ฉันตอบว่า เชื่อไหมว่าฉันไม่เคยคุยเรื่องวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาคฯ กับเหว่ยเหวินนอกคลาสเลย เพราะว่าฉันพยายามเลี่ยงที่จะพูดเรื่องเครียดๆ ให้มากที่สุด “ดังนั้นนับแต่นี้พวกเธอก็เลิกถามฉันเรื่องการเมืองไทยเสียทีนะ เพราะเรื่องนี้น่ะ มันเครียดมากเกินไป” พูดจบ เจนนี่ก็หัวเราะเสียงดัง

 

 

นิ้วกลม เคยเขียนไว้ในหนังสือ “นั่งรถไฟไปตู้เย็น” ว่า “คนหนึ่งคนก็คือโลกหนึ่งใบ” … สำหรับฉัน มันเป็นเรื่องที่จริงที่สุด การได้ไปนั่งกินข้าว จิบกาแฟ อยู่ในวงเบียร์ หรือแม้กระทั่งเดินสนทนาจิปาถะกับคนบางคน บางครั้งมันเหมือนการที่เราได้แง้มประตูเข้าไปในโลกของพวกเขา สำหรับเจนนี่และเหว่ยเหวิน การได้ใช้เวลาเล็กๆ น้อยๆ กับคลาสเมทสองคนนี้ในเทอมที่ผ่านมา ช่วยเปิดโอกาสให้ฉันได้ชะเง้อคอเข้าไปทำความเข้าใจกับโลกของเด็กจีนร่วมสมัยอีกนิด

 

เป็น “อีกนิด”​ ที่ทำให้โลกในโตไดของฉันกว้างขึ้นอีกหน่อย

และก็เป็น “อีกนิด”​ ที่สนุกดีเชียวนะ

[status] 2014.03.07

ช่วงไปถึงญี่ปุ่นใหม่ๆ รู้สึกระคายเคืองตา เลยสังเกตว่าเนื้อตาขาวตัวเองบางทีมันดูแพ้แสง แพ้ลม แพ้การนอนดึก (แต่ก็ยังอุตส่าห์ทำ) เพราะมันจะแดงเวลาเกิดปรากฏการณ์เหล่านี้ (พูดซะเว่อร์) คิดว่าเป็นต้อแน่ๆ แต่จะเป็นต้อชนิดไหนล่ะ? ก็เก็บความคาใจไว้จนกลับมาเมืองไทย ก็รีบแจ้นไปหาคุณหมอสายตาแห่งโรงพยาบาลจักษุรัตนินทร์ ย่านอโศก (ค่าพบแพทย์ 5 นาที 500 บาทนะครัช …. ประเด็นคือคุ้นกับโรงพยาบาลนี้มานานแล้ว เพราะเคยมีอาการกล้ามเนื้อตาไม่แข็งแรงมาตอนหลายปีก่อนนู้น) หลังจากตรวจเครื่องมือไฮโซนู่นนั่นนี่ของโรงพยาบาล แล้วเข้าพบคุณหมอ คุณหมอก็บอกว่า เป็นต้อเนื้อ

ก็ถามว่า ร้ายแรงไหมคะ มันคืออะไร หมอก็บอกว่า มันมีต้อลม ต่อมามันก็พัฒนาเป็นต้อเนื้อ แต่นี่เป็นนิดเดียวเอง อย่านอนดึก อย่าโดนลม อย่าโดนแสง งดเบียร์นะคุณ (เอิ๊กกกก หมอไม่บอกให้งดกาแฟด้วยเลยล่ะคะ) ก็เลยถามว่า จ้องหน้าจอคอมพ์มากๆ นี่มีผลไหมคะหมอ หมอบอก “ไม่นะ คุณเลี่ยงไอ้สี่อย่างที่บอกมาข้างต้นน่ะ ก็พอแล้ว”

จริงๆ ต้อเนื้อนี่ ถ้าเป็นไม่เยอะ เขาก็ไม่รักษานะ คือถ้ามีอาการระคายเคือง ก็หยอดตากันไป (ยาหยอดตาก็ทั่วไปแหละ) แต่หลักๆ ก็คืองดพฤติกรรมเหล่านั้นที่หมอบอกนั่นแหละ แต่ถ้าคนที่เป็นเยอะๆ เขาก็ต้องเข้ารับการ “ลอกเนื้อตา” (รึอะไรประมาณนี้) เหมือนลอกต้อเนื้อออกน่ะ มันมีค่าใช้จ่ายอยู่ ของเราเหมือนเป็นหวัดอ่ะ (หมอไม่ได้พูด ประเมินเอา) คือ หมอบอกว่า คนไทยอยู่ใกล้ลม ใกล้แดด ก็เป็นกันเยอะอยู่แล้ว

ทีนี้มาถึงช็อตเด็ด ก็เลยถามหมอไปว่า “สรุปว่าตอนนี้ดิฉันก็มีความชอบธรรมในการใส่หมวกและสวมแว่นกันแดดทำตัวแบบเซเลบไฮโซแล้วใช่ไหมคะหมอ?”

หมอก็…

หัวเราะเอิ๊กอ๊ากออกมาทันใด

ต่อไปถ้าเห็นชั้นใส่หมวก ใส่แว่นชิคๆ ชั้นทำเพราะเหตุผลด้านสุขภาพนะยะ ไม่ใช่เพราะแฟช่งแฟชั่นอะไร ไม่มี๊ ไม่มีย่ะ เป็นคน function ล้วนๆ ไม่ fashion ย่ะ

จบ.

[status] 2014.03.09

การที่ในยุค 2530 สาวกาฬสินธุ์คนหนึ่ง (ในเพลงชื่อดังของตำนานอย่าง ฮันนี่ ศรีอิสาน) แสดงความกังวลเมื่อหนุ่มคนรักเดินทางเข้า กทม นั้น สะท้อนถึงถนนหนทางในยุคสมัยนั้นที่ยังไม่พัฒนามาก และการเดินทาง 700กิโลเมตรเข้า กทม คือการไปสู่อีกโลกนึง โทรศัพท์บ้านก็ไม่มี ถ้าเขียนจดหมายแล้วอีกคนไม่ตอบก็คือตัดขาดกันไปเลย อันสะท้อนสภาพแวดล้อมของยุคนั้นได้อย่างชัดเจน

สงสัยอยู่อย่างว่าเพลงดังของลานนา คัมมิ่ง ที่เนื้อหาก็หวาดกลัวคนรักเปลี่ยนไปเหมือนกัน กลับไม่ใช่เพลงที่สะท้อนภาพสังคมได้แท้จริง

หรือมันเกี่ยวกับช่วงเวลาที่เพลงนั้นเปิดตัวด้วย (เพลงลานนา มันคือปลายยุค 2540 ที่มือถือราคาถูกมาก)

(จดหมายจากเขาวง) ไม่ใช่การลาออกครั้งสุดท้าย

ไม่ใช่การลาออกครั้งสุดท้าย

เมื่อวานฉันนั่งรถไปอำเภอข้างเคียงกับเพื่อนสาว อำเภอที่เราไปอยู่ห่างจากบ้านราวๆ 20 กิโลเมตร เป็นอำเภอที่อยู่ติดถนนสายมุ่งหน้าไปมุกดาหาร ทำให้มีรถผ่านเยอะ และมีความเจริญตามมา ความเจริญที่ว่าคือ ที่นั่นมีปั๊มน้ำมัน ปตท.​ใหญ่มาก คนที่อยู่ใกล้เมืองใกล้แหล่งสินค้าต่างๆ คงไม่รู้ว่า บางครั้งแค่การมาถึงของปั๊มน้ำมัน ปตท. ก็ทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนไปได้

ฉันแค่อยากไปปั๊ม ปตท.​ เพราะฉันอยากกินเค้กในร้านอะเมซอน แค่นั้นแหละเหตุผลของการรบเร้าให้เพื่อนสาวขับรถพาไปต่างอำเภอ

เพื่อนสาวคนนี้กลับมาปักหลักที่บ้านเกิดก่อนฉันจะกลับมาราวๆ หนึ่งปี เธอเคยเรียนมหาวิทยาลัยใน กทม. ทำงานธนาคารอยู่ที่นั่นหลายปีทีเดียว เธอแต่งงานกับเพื่อนสมัยมัธยมที่บังเอิญมาเจอกันอีกทีตอนต่างคนต่างทำงานแล้วใน กทม. เพื่อนผู้ชายคนนี้ก็เป็นคนในอำเภอเดียวกันนี่แหละ ก่อนหน้านี้สามีเธอก็ทำงานเป็นวิศวกรบริษัทข้ามชาติใหญ่โต (หมายถึงบริษัทน่ะใหญ่โต) แต่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา สามีเธอในวัยต้นสามสิบเพิ่งตัดสินใจย้ายกลับมาทำงานที่โรงงานน้ำตาลมิตรผลแถวละแวกบ้าน แน่นอนว่าการกลับมาก็นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ที่แน่ๆ คือเงินเดือนลด แต่การได้กลับมาอยู่ใกล้ภรรยา ใกล้พ่อแม่พี่น้องตัวเอง นั่นมันก็เป็นอีกข้อดีท่ามกลางข้อด้อยเรื่องเงินลด ชีวิตการกลับบ้านนอกมันก็เป็นแบบนี้แหละ…บางทีเราก็ต้องเลือกว่าเราจะคว้าอะไรไว้ และปล่อยอะไรไป คงเอาไว้พร้อมกันไม่ได้ทั้งหมดหรอก

กลับมาที่เรื่องเพื่อนสาวต่อ ตอนเธอกลับมาใหม่ๆ เธอก็มาช่วยที่บ้านดูแลงานด้านบัญชีในธุรกิจปั๊มน้ำมันครอบครัวที่เปิดมาราวๆ 15 ปีแล้ว พอพูดว่าเป็นเจ้าของปั๊มน้ำมัน หลายคนอาจจะตาวาว ว่าคงต้องมีเงินเยอะแน่ๆ แหม…ชีวิตแบบนี้ก็น่าจะย้ายกลับมาอยู่บ้านนอกอยู่หรอก แต่ความที่อำเภอเขาวงเป็นอำเภอขนาดไม่ใหญ่ ไม่ใช่อำเภอที่เป็นทางผ่านไปชุมชนอุตสาหกรรมหรือเมืองใหญ่ ทำให้รถเข้าออกในอำเภอมีไม่เยอะ ประกอบกับในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ก็มีปั๊มน้ำมันเจ้าอื่นๆ มาแชร์ตลาดจำนวนไม่น้อย ในจำนวนปั๊มน้ำมันที่เปิดใหม่นี้ มีปั๊มน้ำมันยี่ห้อ PT รวมอยู่ด้วย PT ไม่ใช่ ปตท. แต่ก็ทุนรอนที่ถือไว้ก็มีไม่น้อย ทำให้สามารถเช่าทำเลดีๆ ไว้ได้หลายทำเล ธุรกิจปั๊มน้ำมันน่ะชัดเจนอย่างหนึ่งว่า ถ้าทำเลดี รถก็แวะเข้า ถ้าตั้งอยู่ในถนนเส้นที่รถผ่านน้อย ลูกค้าก็ย่อมน้อยตาม การมาถึงของคู่แข่งใหม่ๆ เงินทุนหนา ย่อมกระทบปั๊มน้ำมันของเพื่อนสาวอยู่ไม่น้อย

เธอและครอบครัวเลือกที่จะรับมือปัญหาเชิงธุรกิจด้วยการกระจายการลงทุนไปในธุรกิจอื่นๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับปั๊มน้ำมันและไม่เกี่ยวข้องเลย … เขียนอย่างนี้ดูเป็นภาษาเศรษฐศาสตร์นามธรรมชอบกลเนอะ เอาเป็นว่า เธอกระจายเงินไปลงทุนในกิจการที่เกื้อกูลกับธุรกิจปั๊มน้ำมันตัวเอง ด้วยการออกรถไปขนน้ำมันเองจากสระบุรีทุกๆ สองสามวัน เพื่อนำมาขายในปั๊มตัวเอง รวมถึงกระจายขายให้ปั๊มเล็กปั๊มน้อยปั๊มอื่นด้วย ส่วนธุรกิจอีกอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องกับปั๊มเลย ก็คือการไปประมูลร้านขายของในโรงเรียนมัธยม แล้วเปิดกิจการขายของทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ณ โรงเรียนแห่งนั้น เธอเคยเล่าให้ฟังว่า ในส่วนของปั๊มน้ำมันนั้น ลูกค้านอกจากจะเป็นข้าราชการและคนมีรถยนต์ทั่วไปแล้ว ลูกค้าอีกประเภทที่ทำให้ปั๊มน้ำมันเธอพออยู่ได้ คือชาวนาที่มักแวะมาเติมตั้งแต่เช้าตรู่ก่อนไปทำนา ช่วงหน้านาจะเป็นช่วงที่ยอดขายพุ่งมากกว่าปกติเสมอ ส่วนกิจการร้านค้าในโรงเรียนมัธยมนั้นก็มีรายได้สม่ำเสมอเช่นกัน แต่ต้องแลกมาด้วยการตื่นไปเปิดร้านแต่เช้าตรู่ เพราะเธอไม่ได้จ้างลูกน้องมาดูแลร้านค้า แต่เลือกจะไปเปิดร้านและขายด้วยตัวเองมากกว่า

ฉันไม่รู้ว่าตอนที่เพื่อนสาวเลือกจะลาออกจากงานธนาคารเพื่อกลับมาอยู่บ้านนั้น เธอได้เตรียมใจไว้ก่อนแล้วหรือไม่ ว่ามันคือการลาออกจากงานหนึ่ง เพื่อมารับผิดชอบอีกงานหนึ่ง ที่ภาระอาจจะไม่ได้ยิ่งหย่อนกว่ากันเลย

และแน่นอน…มันไม่ใช่การลาออกครั้งสุดท้าย

ฉันเลือกจะเล่าเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะช่วงนี้มีบางคนถามฉันหลายหน เรื่องการลาออกจากงานเพื่อมาอยู่บ้าน หลายคนมองว่าการทำอย่างนี้ได้ มันดูดีและเป็นชีวิตในฝัน “การลาออกจากงานครั้งสุดท้าย” มนุษย์เงินเดือนหน้าไหนก็อยากทำ อยากมี อยากเป็น แบบนี้ทั้งนั้นแหละ

แต่มันไม่มีหรอก “การลาออกครั้งสุดท้าย” น่ะ ฉันยืนยัน

ตอนที่ยื่นใบลาออกจากออฟฟิศเก่า ฉันรู้เป็นเลาๆ ตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่า ถึงยังไงก็ตาม ตัวเองต้องได้ยื่นใบสมัคร “ขอทำงาน” อีกเป็นแน่ เพียงแต่ว่า งานที่จะยื่นขอทำนั้น จะเปลี่ยนโฉมแปรรูปจากงานสาขาเก่าที่เคยทำมาแค่ไหน มันอาจจะเป็นงานบางประเภทที่ฉันเคยร้องยี้่ในวัยต้น 20  (เช่นงานเลขา) หรืออาจจะเป็นงานประเภทที่ไม่เคยโผล่ในหัวมาก่อน (เช่นเป็นอาจารย์) หรือเปล่านะ แต่ตราบเท่าที่เรายังอยู่ในสังคมที่ต้องกินต้องใช้ มนุษย์ก็มีหน้าที่ต้องทำงาน และงานทุกอย่าง —แม้กระทั่งการเป็นเจ้าของกิจการเล็กๆ ในอำเภออันเงียบสงบ — ก็มักมีปัญหาให้ต้องจัดการและฝึกสมองอยู่เสมอ มันคือความไม่เรียบของชีวิตที่เราทุกคนล้วนต้องรับมือกันไปนั่นแหละ

หาตอนจบอันประทับใจไม่ลง…งั้นจบตรงนี้แล้วกันนะ (ตึ่งโป๊ะ)

ปล.​ อยากรู้ข้อมูล ปั๊ม PT เพิ่ม สามารถ google ได้ค่ะ

[จดหมายจากเขาวง] เป็นไงบ้าง

…เป็นไงบ้าง…

ฉันกลับมาอยู่บ้านได้เกิน 3 สัปดาห์แล้ว เป็นสัปดาห์ที่ไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้นมากมายนักหรอก ฉันติดรถน้ากลับรถมาบ้านตอนวันวาเลนไทน์พอดี พอวันเสาร์ เราก็ไปวัดกันแต่เช้า พอเสร็จจากวัด น้ากับน้าผู้ชายก็เดินทางไปแวะเยี่ยมคนรู้จักที่สกลฯ ต่อ ฉันกับแม่ก็นั่งกินลาบเป็ดอยู่ที่ร้านครัวครูวิ … บอกไปหรือยังว่าแม่ฉันชื่อครูวิ และร้านนั้นก็เป็นร้านที่นางลงทุนลงแรงก่อสร้างขึ้น

ฉันใช้เวลาสามวันหลังจากนั้นเขียนบทความส่งเข้าไประกวดสัมนานโยบายสาธารณะที่ยุโรป มันไม่ใช่สัมนาซีเรียสอะไรหรอก เป็นงานของเด็กปริญญาโทจัดการกันเอง ฉันเห็นในเว็บไซต์ว่าเขาขยายเวลารับสมัครถึง 14 มีนาคม ฉันเลยคิดเอาเองว่า คนคงส่งน้อยแน่ๆ ถึงได้เลื่อนกำหนดส่งไปอีกตั้งเดือนกว่าๆ (จากเดิมคือ 10 กุมภาพันธ์) ฉันเลยยอมกลั้นใจร่างบทความขึ้นมาราวๆ สองหน้า เป็นเรื่องเกี่ยวกับการว่างงานของคนรุ่นใหม่ในยุโรป ฉันไม่รู้ว่าบทความดีหรือไม่ดี แต่โล่งใจที่เขียนเสร็จแล้ว จากนั้นฉันก็ทิ้งบทความให้นอนรอในคอมพิวเตอร์ก่อน แล้วก็ไปหาพ่อที่ท้องนา

วันรุ่งขึ้นฉันตัดสินใจชะลอการส่งบทความไปก่อน ฉันขอให้เพื่อนและรุ่นพี่คณะช่วยตรวจดูแกรมม่าให้ พร้อมๆ กับการแก้ไขแกรมม่า ฉันได้ความคิดเห็นกลับมาอีกก้อนหนึ่ง จริงๆ ฉันเริ่มขี้เกียจแล้วล่ะ ไม่อยากยุ่งกับบทความนี้อีกแล้ว อยากเปิดเวิร์ดโปรเซสเซอร์ แล้วเขียนเรื่องเล่าจิปาถะจากเขาวงเก็บไว้รวมเล่มดีกว่า แต่หลังจากลองเขียนๆ นั่นนี่ไปสักสองเรื่อง ฉันเริ่มตันและไปต่อไม่เป็น ฉันเลยคิดว่ากลับมาแก้บทความส่งสัมนาอีกรอบก็ได้ เพราะไหนๆ ก็เหลืออีกตั้งสามสัปดาห์กว่าจะถึงกำหนดส่ง

จริงๆ การกลับมาค้นข้อมูลใหม่อีกรอบเพื่อเขียนประเด็นให้หนักแน่นขึ้น ทำให้ฉันได้มีโอกาสอ่านบทความที่อธิการคนหนึ่งในมหาวิทยาลัยชื่อดังที่อเมริกาเขียนถึงคุณประโยชน์ของการเรียนสายสังคมศาสตร์ ในยุคปัจจุบันนี้ เวลาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอันส่งผลต่อการว่างงานที่เพิ่มขึ้น นักต่อนักอะไรจิปาถะมักบอกว่า สายสังคมศาสตร์หางานยากเป็นลำดับต้นๆ เสมอ แตกต่างจากเด็กสายวิทย์ที่มีอาชีพให้ปักหลักอย่างมั่นคงกว่ามาก คำถามคือ แล้วคนเราจะยังเรียนสายสังคมต่อไปทำไมในเมื่อมันช่างดูไม่ไปด้วยกันการหาการหางานทำ และมันช่วยอะไรสังคมได้จริงๆ บ้างน่ะเหรอ

อธิการคนนั้นเขียนไว้ยาวมาก และมันก็น่าอ่านเสียด้วย ฉันจำเนื้อหาทั้งหมดไม่ได้แล้ว แต่ช่วงหนึ่งเขาเล่าว่า สังคมศาสตร์ทำให้เราเชื่อมต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกได้ เราเห็นภาพกว้าง และมันมักมีคำอธิบายบางอย่าง ที่ช่วยให้สังคมโลกเดินต่อไปได้เมื่อมีวิกฤตหนึ่งเกิดขึ้น ความรู้บางอย่างที่ดูไม่สำคัญในเวลาหนึ่ง พริบตาเมื่อเกิดบางอย่างขึ้น มันดันเป็นอะไรที่สำคัญและเป็นที่ต้องการของตลาดมากๆ อธิการคนนี้ยกตัวอย่างตอนหลังเกิดเหตุ 911 เมื่อปี 2001 ว่าหลังเกิดเหตุการณ์นั้น ความต้องการนักสังคมศาสตร์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางเพิ่มขึ้นมาก และไม่ใช่ว่าความรู้เหล่านี้จะเรียนรู้กันได้ภายใน 30 วัน 60 วัน มันคือการสั่งสมความรู้อย่างยาวนานของคนคนหนึ่ง โดยที่ตอนที่เขาเริ่มต้นเรียนรู้เรื่องนี้อย่างสนอกสนใจ เขาอาจไม่มีวันรู้เลยว่า วันหนึ่งสิ่งที่เขารู้มันจะจำเป็นมาก…ต่อผู้คนที่ต้องการคำอธิบายนี้

วันก่อนฉันได้ดูรายการดิว่าส์คาเฟ่ เทปที่เชิญอาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจาก ม.ธรรมศาสตร์ มาเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในยูเครนให้ฟัง แม้ฉันจะเคยเรียนเรื่องยุโรปตะวันออกมาบ้างสมัยเรียนปริญญาตรี แต่นั่นมันก็ตั้งเกือบสิบห้าปีที่แล้ว นานโข แถมยังไม่อัพเดต โลกหมุนวนไป และแน่นอนว่าเรื่องยูเครนและยุโรปตะวันออกที่ฉันพอรู้มาบ้าง ก็ย่อมต้องมีข้อมูลที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาด้วยแน่ๆ อาจารย์จากธรรรมศาสตร์คนนั้นให้ข้อมูลทั้งด้านประวัติศาสตร์ ที่มาที่ไป เหตุผลที่รัสเซียต้องเข้ามา ผลประโยชน์ที่รัสเซียพยายามปกป้อง อย่างมีระเบียบแบบแผนและฟังเข้าใจง่ายมากๆ ที่สำคัญ ข้อมูลของอาจารย์ค่อนข้างครอบคลุม นั่นคงเพราะ อาจารย์คือผู้ที่ศึกษาและติดตามข่าวสารของภูมิภาคนี้อย่างกัดไม่ปล่อย จนทำให้อาจารย์รู้รอบรู้ลึก และกลายเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ไปในที่สุด

แต่ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุประท้วงในยูเครน และก่อนที่ผู้คนจะเริ่มสนใจอยากรู้เหตุผลเบื้องลึกเบื้องหลัง หรืออยากได้ชุดคำอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ถามว่าความรู้ที่อาจารย์ท่านนั้นศึกษามา ค้นคว้ามา ถือว่าไร้ค่าเพราะไม่อยู่ในสายตาคนจำนวนมาก และเพราะไม่เป็นที่ต้องการของตลาดโลกไหม คำตอบก็คือ ไม่

เพราะเราไม่มีวันรู้เลยว่า วันหนึ่งโลกจะเกิดอะไรขึ้น และเราจะต้องการคำอธิบายในเรื่องอะไรอย่างเร่งด่วนจนต้องไปควานหาผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นมาบ้าง

เป็นตอนที่ฉันได้นั่งฟังอาจารย์ท่านนั้นพูดเรื่องยูเครนให้ฟังนั่นเอง ที่ฉันถึงบางอ้อ เข้าใจสิ่งที่อธิการบดีคนนั้นพยายามอธิบายความสำคัญของการศึกษาสาขาสังคมศาสตร์ไว้ ว่ามีคุโณปการต่อโลกอย่างไรบ้าง

ถึงตอนนี้ ฉันเริ่มมองย้อนไป ถ้าฉันขี้เกียจแก้บทความส่งสัมนาตั้งแต่แรก ฉันคงไม่ต้องค้นข้อมูลเพิ่ม แล้วคงไม่ได้อ่านบทความของอธิการบดีท่านนั้น และคงไม่เชื่อมต่อจิ๊กซอว์ต่างๆ จนเห็นและตระหนักรู้ว่า ความรู้สังคมศาสตร์ช่วยให้เรายึดโยงกับโลกได้เพียงไหน

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่า การยอมทนค้นคว้าอะไรต่ออีกเพียงนิด มันอาจนำเราไปสู่ลิงก์อะไรบางอย่าง ที่นำเราไปสู่อะไรบางอย่าง ที่เปิดประตูพาเราเข้าไปสู่อีกความเข้าใจแบบหนึ่งที่เราไม่เคยมองเห็นหรือรู้สึกรู้สามาก่อนก็เป็นได้

ดังนั้น…ถ้ายังพอมีเวลา ต่อไปจะขี้เกียจให้น้อยกว่าเดิม และจะยอมเข็นตัวเองให้ยอมทนฝ่าด่านกับอะไรที่ตอนแรกยังไม่เห็นภาพ ไม่เข้าใจ ….

เพราะมันอาจเป็นประตูใบใหม่ ที่เขย่าโลกใบเดิม หรืออย่างน้อย ก็พาดาวดวงอื่นๆ มาปะทะกับโลกเก่าที่เราเคยยืนหยัดอยู่

และทำให้เราเห็นว่า จักรวาลมันกว้างแบบนี้น่ะเหรอ … อีกสักนิดก็ยังดี